วงดนตรีไทย

โดยทั่วไปวงดนตรีไทยที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วทุกภาคของประเทศ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทได้แก่
1. วงปี่พาทย์
2. วงเครื่องสาย
3. วงมโหรี

วงปี่พาทย์ เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องประเภท “เครื่องตี” เป็นเครื่องดนตรีสำคัญหรือเป็นตัวเอก ได้แก่ ระนาด กับ ฆ้องวง และมีเครื่องเป่าคือ ปี่ เป็นตัวสำคัญรองลงมา นอกจากนั้นมีเครื่องประกอบจังหวะอื่น ๆ เช่น กลอง,ฉิ่ง,ฉาบ
วงเครื่องสาย เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องประเภท “เครื่องสาย” เป็นหลักอันได้แก่ ซอด้วง กับซออู้ และมีเครื่องเป่า คือ “ขลุ่ย” สำคัญรองลงมา นอกจากนั้นมีเครื่องประกอบจังหวะคือ ฉิ่ง,ฉาบ,กลอง เครื่องดนตรีที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในวงเครื่องสายคือ “จะเข้”
วงมโหรี เป็นวงดนตรีที่บรรเลงโดยใช้เครื่องดนตรีจากวง”ปี่พาทย์” กับวง “เครื่องสาย” มาผสมกัน ดังนั้น วงมโหรีจึงประกอบด้วยเครื่องดนตรี คือ ระนาด,ฆ้องวง,ซอสามสาย,ซอด้วง,ซออู้,ปี่,ขลุ่ย,จะเข้, และเครื่องประกอบจังหวะทั้งหลายเท่าที่เห็นสมควร ข้อสังเกต ปี่ไม่มีในวงมโหรี

นั้นคือการแบ่งลักษณะของวงดนตรีไทยออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ต่อไปเราจะมาดูลึกในรายละเอียดของวงแต่ละประเภทกันว่าเป็นอย่างไร

ประเภทของวงปี่พาทย์ยังแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีก ตามแต่จุดประสงค์ ของการใช้งานดังนี้

1. วงปี่พาทย์ชาตรี
เป็นวงปี่พาทย์โบราณที่มีเครื่องดนตรีน้อยที่สุด เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงหนังตะลุง และมโนราห์ เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงดนตรีประเภทนี้ได้แก่ ปี่นอก ฆ้องคู่ โทน 1คู่กลองชาตรี 1 คู่กรับ ฉิ่ง

 2. วงปี่พาทย์ไม้แข็ง
  วงปี่พาทย์สามัญสำหรับประกอบการแสดง และ ประโคมในงานทั่วไป มี 3 ขนาด ดังนี้
 2.1 วงปี่พาทย์เครื่องห้า ใช้เครื่องดนตรีและผู้บรรเลงคือ ระนาดเอก 1 คน ฆ้องวงใหญ่ 1 คน ปี่ใน 1 คน ฉิ่ง 1 คน ตะโพนหรือกลองทัด 1 คน

2.2 วงปี่พาทย์เครื่องคู่  ระนาดเอก 1 คน ระนาดทุ้ม 1คน ฆ้องวงใหญ่ 1 คน ฆ้องวงเล็ก 1 คน ปี่ใน 1 คน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง 1 คน ฉาบ 1 คน ตะโพนหรือกลองทัด 1 คน

2.3 วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ใช้เครื่องดนตรีบรรเลงคือ

ระนาดเอก 1 คน ระนาดทุ้ม 1คน ระนาดเอกเหล็ก 1 คน ระนาดทุ้มเหล็ก 1 คน ฆ้องวงใหญ่ 1 คน ฆ้องวงเล็ก 1 คน ปี่ใน 1 คน ปี่นอก 1 คน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง 1 คน ฉาบ 1 คน ตะโพนหรือกลองทัด 1 คน

***หมายเหตุ***วงปี่พาทย์ไม้แข็งทั้งสามชนิดนี้ ไม้ที่ผู้เล่นใช้ในการบรรเลงระนาดจะใช้ไม้แข็ง (หัวหุ้มที่ใช้ตีจะแข็งทำให้เสียงดัง แข็ง เกรี้ยวกราด) สำหรับกลองอาจใช้กลองแขกตีแทนกลองทัดและตะโพนได้ในการบรรเลงเป็นบางเพลง
ข้อสังเกต นักศึกษาคงจะสับสนอยู่บ้างเกี่ยวกับจำนวน,ประเภทของวงแต่ละประเภท ลองพิจารณาดูความแตกต่างเหล่านี้
– วงปี่พาทย์เครื่องห้า มีจำนวนเครื่องดนตรีอย่างละ 1 ชิ้น
– วงปี่พาทย์เครื่องคู่ มีจำนวนเครื่องดนตรีอย่างละ คู่ กล่าวคือ มีทั้งระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ฆ้องวงใหญ่
– หากวงใด มีระนาดเล็กด้วย นั้นคือวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

3. วงปี่พาทย์ไม้นวม
วงปี่พาทย์ชนิดนี้ใช้เครื่องดนตรี ผู้บรรเลง ,และขนาดของวง เหมือนกับวงปี่พาทย์ไม้แข็งเกือบทุกอย่าง ส่วนที่แตกต่างก็คือ
– ใช้ ขลุ่ยเพียงออ  แทนปี่ใน
– เพิ่ม ซออู้
– ใช้ไม้นวมตีระนาดเอกไม้ระนาดเอกเหล็ก (ทำให้เสียงนุ่มนวลขึ้น)

4. วงปี่พาทย์มอญ
เครื่องดนตรีของวงปี่พาทย์มอญนี้ ปิดทองหรือทาด้วยสีทองเกือบทุกชิ้น วงปี่พาทย์มอญเช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ไทย กล่าวคือ มีเครื่องห้า ,เครื่องคู่, เครื่องใหญ่ เช่นกัน มีข้อแตกต่างกันดังนี้
-ใช้ปี่มอญ แทนปี่ใน (ปี่มอญ เสียงต้อต่ำฟังเสียงแล้วเยือกเย็นและวังเวง)
– ใช้ฆ้องมอญ แทน ฆ้องวง
– ใช้ตะโพนมอญ แทน ตะโพนไทย
– เพิ่มเปิงมางคอกเข้า (เปิงมางคอก ใช้เปิงมาง 7 ลูกเทียบให้มีเสียงสูง – ต่ำ ตามลำดับผูกร้อยเข้ากับคอกเปิงมาง)
วงปี่พาทย์มอญนิยมบรรเลงในงานศพ เพราะมีทำนองฟังแล้วโหยหวลชวนให้เกิดความเศร้าใจ

5. วงปี่พาทย์นางหงส์
ใช้เครื่องดนตรีเหมือนกับวงปี่พาทย์ไม้แข็งทุกอย่างนอกจาก
-ใช้ ปี่ชวา แทน ปี่นอก 
– ใช้กลองมะลายู 1 คู่ แทน กลองตะโพนและกลองทัด
วงปี่พาทย์นางหงส์นี้ใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น

 

ใส่ความเห็น